สำนักงานหอพรรณไม้


Monday, July 16, 2012

กระบองเพชรในเมืองไทย


กระบองเพชรในเมืองไทย
จากจุลสาร ของ ชมรมกระบองเพชรแห่งประเทศไทย เล่มที่หนึ่ง
ไม่ได้ลงวัน-เดือน และพุทธศักราชไว้
(ชมรมกระบองเพชรแห่งประเทศไทย ก่อตั้งประมาณ กลางปี ๒๕๔๑
มี คุณทัศน์ วสุธาร เป็นประธานชมรมท่านแรก)


 แต่ก่อนนี้ เราชาวไทยรู้จักกระบองเพชรอยู่เพียง  3-4  ชนิดเท่านั้น   ที่เกิดขึ้น และเจริญเติบโต
อยู่ตามธรรมชาติ เช่น “สลัดได”   “เสมา”   “โบตั๋น”  หรือ  “กระบองเพชร”  ต้นใหญ่โตที่ปลูกเป็นรั้วไว้
ตามชนบท เป็นชนิดต้นใหญ่โต หนามหนา ดอกสีขาว ที่ชาวบ้านเก็บมาต้มจิ้มน้ำพริก

          ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เริ่มมีผู้ใหญ่ในสมัยนั้นที่เป็นผู้รักต้นไม้ เช่น  ชาวสกุล  “สมบัติศิริ”   ได้เริ่ม
มีกระบองเพชร ชนิดใหม่ ๆ     ติดกลับมาจากต่างประเทศเพื่อการสะสม  มีการเริ่มเล่นในหมู่เพื่อนฝูง
ยิ่งนานไป    ความพึงใจในความงดงามประหลาดตา ของพันธุ์ไม้จากดินแดนทะเลทรายอันแสนไกลนี้
ก็ยิ่งเพิ่มขยายขึ้นเรื่อย ๆ    เริ่มมีผู้สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ   เช่น คุณสมพงษ์ เล็กอารีย์     คุณอารีย์
นาควัชระ  คุณบุษบง มุ่งการดี  ผู้เขียนจำได้ว่า ท่านหลังนี้ มีขนนก (Mammillaria plumosa) กอใหญ่
เส้นผ่าศูนย์กลาง 14- 15 นิ้ว หลายกอ ปลูกเรียงเป็นแถว อวดขนนุ่มสีขาวและดอกแพรวพรายงดงาม
มีเฟอโรแคคตัส (Ferrocactus) ต้นใหญ่ ๆ ออกดอกบานแจ่มจ้าให้เห็นประจักษ์ตาว่า กระบองเพชร
นั้นเลี้ยงได้     เจริญเติบโต     ออกดอกออกผลได้ในเมืองไทย    ท่านเหล่านี้ ได้เพียรพยายามเสาะหา
ทั้งพันธุ์ไม้ และความรู้ นำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอ

          ในขณะที่ตลาดไม้ประดับ กำลังให้ความสำคัญกับกล้วยไม้ กลุ่มเล็ก ๆ ของ “ชาวกระบองเพชร”
ก็ค่อย ๆ   เติบโตขึ้น     มีร้านกระบองเพชรร้านแรก เกิดขึ้นที่ตลาดนัดสนามหลวง    คือร้าน    “471”
ของป้าวาส  สังข์สุวรรณ  ต่อจากนั้น ก็มีร้าน “ลุงจรณ์”  ตั้งขึ้นริมคลองหลอด  เชิงสะพานเสี้ยว  เปิดขาย
กระบองเพชรโดยตรง ลูกค้าได้ซื้อต้นไม้เล็ก ๆ    ราคาต้นละ  ๒  บาท    โหลละ  ๒๐ บาท  ไปเลี้ยงกัน
ดินปลูกนั้นขายเป็นกระป๋อง กระป๋องละ ๑ บาท ตักใส่ถุงกระดาษสีน้ำตาล พับจากถุงบรรจุปูนซีเมนต์
           สมัยนั้น การหาพันธุ์ไม้ใหม่ ๆ เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก   ราคาต้นไม้ที่ค่อนข้างจะ “พิเศษ” จะสูงมาก
ทีเดียว   กระบองทองกอใหญ่ ๆ กอหนึ่ง ราคาถึง ๒๐๐ บาท  (ทองบาทละ ๔๐๐ บาท)    มีการสั่งต้นไม้
และหนังสือเข้ามากันเสมอ หนังสือที่ผู้เขียนเห็นว่าสวยงามเหลือเกินเป็นเล่มแรกคือ “The Flowering
cactus”   ของ Raymond Carlson  ตีพิมพ์   คศ. 1954 เข้ามาเมืองไทยปี ๒๕๐๑ การสั่งต้นไม้มัก
จะสั่งเข้ามาทางไปรษณีย์  จาก  Nursery   ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้น   เช่น   Johnson
Cactus Garden และ Henrieltas’ Nursery เป็นต้น

 นักเล่นกระบองเพชร ที่ถึงขั้นหลงใหล และเริ่มจะ “เอาจริง” ก็มีหลายท่าน เช่น คุณอาขจี วสุธาร
ผู้เขียนขอยกย่องว่าท่านเป็นนักเล่นกระบองเพชรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนแรกของเมืองไทยทีเดียว  ที่เล่นใน
ลักษณะครบวงจร  คือจากการสั่งเมล็ดเข้ามาเพาะ   จนถึงได้เมล็ดจากรังท่านเองมาเพาะอีก   รวมทั้ง
ได้ศึกษาหาความรู้จากสรรพตำราอย่างจริงจัง รักและเลี้ยงกระบองเพชรมาตลอดทั้งอายุของท่าน

           ถ้านักเล่นสงสัยว่า   ตั้งแต่ยุคนั้นถึงบัดนี้ กระบองเพชรสมัยนั้น ยังมีหลงเหลืออยู่หรือไม่ ผู้เขียน
ตอบได้ว่า ยังมีอยู่ เป็นถังทอง (Echinocactus grusonii) และเฟอโรแคคตัส ชวาซิไอ (Ferrocactus
schwarzii)     ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเกิน  ๖๐ นิ้ว   ของอาจารย์สมคิด  ถาวราพร    อาจารย์ประจำคณะ
พาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ (ปัจจุบันเกษียณแล้ว) ต้นไม้ชุดนี้ (ประมาณ ๕ ต้น) ปัจจุบัน
อยูที่ศาลาแก้วกู่ จ.หนองคาย (ปี 2549 คุณชิงชัย แห่งบ้านแพ้วแคคตัส ได้ไปรับมาไว้ที่บ้านแพ้ว - www.mycacti.com) ความที่เป็นต้นไม้อายุยืน กระบองเพชรก็กลายเป็น มรดกทางใจแก่หลาย ๆ
คน  ที่เคยเห็นท่านผู้ใหญ่ฟูมฟักทนุถนอมดูแลกระบองเพชร   เมื่อถึงเวลา  ก็มีทายาทรับช่วงการเลี้ยงดู
และประสบการณ์ต่อ เป็นที่น่ายินดียิ่ง  เช่น คุณทัศน์ วสุธาร   เจ้าของ   “สวนขจี”   แห่งจังหวัดเชียงใหม่
เป็นต้น
            นักเล่นกระบองเพชรแต่ก่อนนี้มีความพยายามมาก ที่จะหาพันธุ์ใหม่ มาเพิ่มสีสันให้แก่“รังเล็ก ๆ”
ของตนเอง   ต้นไหนที่สวยงามเป็นพิเศษ  จะมีคิวจองหน่อกันยาวมากทีเดียว   เวลาที่มีต้นไม้ใหม่เข้ามา
นักเล่นจะไปชุมนุมกันเพื่อเลือกส่วนแบ่งที่ตนต้องการไปประคบประหงมเลี้ยงดู เป็นที่เดือดร้อนของท่าน
เจ้าของรัง  ต้องดูแลข้าวปลาอาหารกันเป็นที่วุ่นวาย  แต่ก็มีความสนิทสนม และสนุกสนานกันเป็นอันมาก
ต่อมาเมื่อประมาณปี ๒๕๑๙-๒๕๒๐ เริ่มมีการสั่งต้นไม้เข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น มีไม้ต่อสีแดงเข้ามาเล่น
กัน ตามมาด้วย ยิมโนด่าง (Gymnocalycium mihanovichii variegata) และต้นไม้เพาะเมล็ดชนิดอื่น ๆ
จำนวนมาก

             มีร้านขายกระบองเพชรเพิ่มขึ้นหลายร้านที่สนามหลวงแล้วในขณะนั้น     แต่ละร้านก็ล้วนแต่น่า
สนใจ ร้านใหญ่ ๆ มีร้านยุทธนาแคคตัส ร้านลินจง ร้านพิศพร้อม และร้านลุงจรณ์ นอกจากนั้นยังมีผู้ผลิต
อีกรายหนึ่ง ชื่อ ลุงเล็ก มีบ้านอยู่ที่สามพราน ตัดเอาเสมา-สนทอง-ดาวล้อมเดือน  ใส่กระจาดมาวางขาย
ที่ลูกค้าชอบมากคือ ต้องใช้ตะเกียบคีบใส่ตะกร้าเล็ก ๆ ให้ลุงเล็กคิดเงิน มีชื่อเสียงว่า “ต้นไม้คีบตะเกียบ”
ลุงเล็กปลูกเสมาไว้บนพื้นดินธรรมดา  ยกร่องเป็นร่องสวน   เสมาของลุงเล็กใหญ่โตมาก  สูงถึงครึ่งเมตร
แตกกิ่งก้านสวยมากทีเดียว         ต้นไม้ญี่ปุ่นทำให้วงการกระบองเพชรตื่นตัวกับการต่อต้นไม้โดยใช้
Hylocereus gelatemalensis (โบตั๋นสามเหลี่ยม)   เป็นต้นตอ    เริ่มมีผู้ผลิตไม้ต่อออกมาเป็นจำนวน
มาก ทำให้การผลิตในประเทศขยายตัวรวดเร็วขึ้น คนที่มีชื่อเสียงในการทำไม้ต่อในขณะนั้น มีหลายคน
ทีเดียวเช่น อ.วิม-อ.นวลศรี ทยาพัชร อ.ประวัติ อุทโยภาส อีกคนหนึ่งที่เก่งมากคือ คุณประวิตร สมมาตร
ทำไม้ต่อในพื้นที่ 6 ไร่ ปลูกลงบนคันดิน ยกร่องแบบแปลงผัก ใช้เรือรดน้ำแบบที่สวนผักใช้ และต่อด้วยการ
ใช้เทป ส่วนอาจารย์ประวัติ ใช้ได้ทั้งสองวิธี ทำความเร็วได้อย่างน่าประทับใจทีเดียว ผู้ผลิตและผู้จำหน่าย
ทุกคน ร่วมกันมีบทบาทให้วงการของเราค่อย ๆ  เติบโตขึ้นถึงแม้ว่าจะไม่รวดเร็วนัก แต่ก็เป็นก้าวที่หนัก
แน่นและมั่นคง นักเล่นเริ่มเห็นอนาคตว่า กระบองเพชร เป็นต้นไม้ที่ยึดเป็นอาชีพได้ ในด้าน การเพาะเมล็ด
นั้น คุณเกรียงไกร และและคุณวิชิต ทันด่วน เป็นแนวหน้า ทำให้การเพิ่มพันธุ์ใหม่ให้แก่วงการเป็นไปอย่าง
มีคุณภาพยิ่ง   คุณวิชิตเป็นนักเล่นที่ต้องยกย่องในความสามารถ  ความอดทนและความสม่ำเสมอ  ไม่เคย
เบื่อหน่ายละทิ้งต้นไม้เลย เป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปี
          เมื่อย้ายตลาดนัดจากสนามหลวงมาอยู่ที่สวนจตุจักร หลายปีแรกของช่วงนั้น วงการกระบองเพชร
ซบเซาไประยหนึ่ง จนตลาดเริ่มฟื้นตัวขึ้น วงการก็ก้าวหน้าขึ้นมาอีกครั้ง หลายครั้งที่หนังสือพิมพ์ทำข่าว
เรื่องกระบองเพชร รวมทั้งรายการทางโทรทัศน์  หลายวงการหนังสือและนิตยสารหลายเล่มทำเรื่องราว
สัมภาษณ์ผู้เพาะเลี้ยง การสร้าง Geodesic Dome ที่สวนหลวง ร.๙ เพื่อจัดสวนกระบองเพชร หลาย ๆ
อย่าง รวมทั้งความพยายามของผูเลี้ยงและผู้จำหน่ายที่ทำการยกระดับการผลิตและคุณภาพของต้นไม้ขึ้น
มาโดยตลอด ทำให้จนถึงปัจจุบันนี้ (๒๕๔๑ –mycacti.com) กระบองเพชรก้าวขึ้นสู่ความสนใจของคน
ไทยจำนวนไม่น้อย การขายและการเผยแพร่ก็เป็นไปโดยกว้างขวาง กว่า ๕๐ จังหวัดของประเทศเริ่มมี
ตำรากระบองเพชร ภาษาไทย เป็นรูปเล่มขึ้น เช่น “แคคตัส” ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน


 เดี๋ยวนี้ ถ้าถามถึงกระบองเพชร คนไทยมีความรู้ความเข้าใจเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว จากพันธุ์
ไม้พื้นเมืองเพียง ๓-๔ ชนิด ในยุคก่อน เดี๋ยวนี้เราเข้าใจกันแล้วว่า กระบองเพชรเป็นพันธุ์ไม้ที่มีรูปทรง
หลากหลาย ไม่มีที่สิ้นสุด มีความงดงามอย่างมีพลังในตนเอง มีดอกที่แสนสวย เป็นต้นไม้ที่คู่ควรกับการ
ศึกษาสนใจ คู่ควรกับการทนุถนอมไว้เป็นพันธุ์ไม้ประดับคู่เมืองไทยตลอดไป
          “พันธุ์ไม้ชนิดใดก็ตาม เกิดขึ้นมาในโลกของเราเพื่อประโยชน์ใช้สอยและประดับโลก ล้วนเป็น
สมบัติส่วนรวมของมนุษยชาติ เป็นเรื่องน่ายินดีที่พันธุ์ไม้จากทะเลทรายอันไกลโพ้นคนละซีกโลก ได้มี
โอกาสมาเกิด – มาเจริญเติบโตผลิดอก ออกผลเป็นที่ชื่นชูใจกับคนไทยอย่างนี้ นักเล่นกระบองเพชร
มีความสุขทางใจอื่นประมาณมิได้ ในการได้ฟูมฟักทนุถนอมต้นไม้ของเรา ค่อย ๆ  ดูการเจริญเติบโต
วันเวลาที่ผ่านไป ทำให้ต้นไม้น้อย ๆ   ของเราแข็งแรงสดใส   ผลิหนามใหม่สีสดสวย  รูปทรงสลักเสลา
ประหนึ่งประติมากรรมธรรมชาติ     นอกจากจะได้ชื่นชมความงามแล้ว       ยังมีนักเล่นอีกจำนวนมาก
ที่หมายมาดจะยึดงานนี้เป็นอาชีพที่ถาวรต่อไป หวังว่า กระบองเพชร จะเป็นเพชรเม็ดงามประดับวงการ
ไม้ประดับเมืองไทยตลอดไป
“กระท่อมลุงจรณ์”